เหรียญมีสองด้านฉันใด นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลย่อมมีสองด้านฉันนั้น...

ด้านที่สร้างคุณประโยชน์ รถไฟฟ้าจะช่วยลดคาร์บอนมอนอกไซด์ ตัวการสร้างก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ตัวการทำให้สภาวะอากาศทั่วโลกแปรปรวนเกินกว่าความคาดหมาย และเมืองไทยมีพันธสัญญาต้องลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050

ผู้บริโภคได้ประโยชน์ ได้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกลงเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าลูกผสม (HEV) ยอดขายเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมฯ ยอดขาย BEV (Battary Electric Vehicle) 8 เดือนของปีนี้เทียบปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 13.86% หรือ Hybrid Electric Vehicle (HEV) เพิ่มขึ้น 62.06% ขณะที่รถยนต์สันดาปลดลงทั้งระบบ

 

ประเด็นสำคัญ รัฐบาลตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น “ฮับ” หรือแหล่งผลิตรถไฟฟ้าพวงมาลัยขวาเพื่อส่งออก ทั้งนี้ รถไฟฟ้าพวงมาลัยขวามีตลาดต่างประเทศรองรับประมาณ 40% ของปริมาณรถยนต์ทั่วโลก

นโยบายดังกล่าวนี้น่าจะประสบผลสำเร็จ บริษัทรถไฟฟ้าจีนดาหน้ากันเข้าตั้งโรงงานผลิตจำนวนมาก อาทิ MG BYD Great Wall เนต้า ฉางอัน เป็นต้น

แรงขับเคลื่อนทำให้อัตราเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าสูงมาก เพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุนคันละ 1 แสนบาท (เดิมให้ 1.5 แสนบาท) รวมทั้งยังมีข้อตกลงทางการค้ากับจีนลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าเสียอัตราที่ต่ำกว่า และได้สิทธิประโยชน์ BOI เมื่อมาตั้งโรงงานผลิตในไทย

 

เหรียญอีกด้านหนึ่ง นโยบายรถยนต์ไฟฟ้ากำลัง “มีผล” ต่อแหล่งผลิตรถยนต์สันดาปไปในตัว

แหล่งผลิตรถยนต์สันดาป เคยเป็นเรือธงผลักดันเศรษฐกิจของประเทศมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน บริษัทรถยนต์และบริษัทชิ้นส่วนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาอยู่เมืองไทย รถยนต์สันดาปใช้ชิ้นส่วนหลักหมื่นชิ้น ฉะนั้นโรงงานผลิตชิ้นส่วนขยายตัวราวดอกเห็ด แต่รถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนหลักพันชิ้น 

 

โดยมีชิ้นส่วนสำคัญคือ แบตเตอรี่ มอเตอร์ เครื่องควบคุมการส่งกำลัง แต่รถยนต์ไฟฟ้าไม่มีหม้อน้ำ ไดชาร์จ ไดสตาร์ต ลูกสูบ ท่อไอเสีย หัวเทียน ฯลฯ ฉะนั้นโรงงานชิ้นส่วนไม่ว่ารายใหญ่รายเล็ก ต้องหาช่องทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

นอกจากนี้ยังพูดกันขรมว่า ไม่มีคำสั่งซื้อชิ้นส่วนตกมายังผู้ผลิตคนไทย เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจีนใช้ชิ้นส่วนจีน แม้ว่าจะมีข้อกำหนดให้รถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้ Local Content 40% แต่เป็นไปตามมูลค่าไม่ใช่ตามชิ้นส่วนเหมือนรถสันดาป แค่แบตเตอรี่ลูกเดียวก็คุ้มแล้ว

ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นต้องปรับตัวสู้ด้วยการเดินหน้าไปเส้นทาง รถยนต์ไฟฟ้าลูกผสม (Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งตอบโจทย์การเดินทางระยะไกลได้ดีกว่า แต่จีนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดมีข่าวว่าจีนสามารถพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าลูกผสม HEV ใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็ก มีแรงขับเคลื่อนสูง เพื่อนำมาใส่รถปิกอัพ ซึ่งจะเป็นพายุลูกใหม่พัดกระหน่ำเจ้าตลาดรถปิกอัพอีกระลอก

การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าของจีนคงไม่หยุดยั้งเพียงแค่นี้ ทำให้ต้องหันมามองเมืองไทย รัฐบาลจะกำหนดที่ยืนของอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปยังไง หรือจะมีช่องบรรเทาความเสียหายมากน้อยแค่ไหน เพราะอุตสาหกรรมนี้มีประชาชนจำนวนมากเกี่ยวข้อง

เมื่อยังไม่มีคำตอบชัดเจน น่าจะมีความกระจ่างในเรื่องเหล่านี้ อาทิ เงินอุดหนุนจะต้องยกเลิกหรือไม่ หรือรัฐจะขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าลูกผสม HEV